ผู้บำเพ็ญประโยชน์เรียนอะไรบ้าง?

ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ (Girl Guides)

ท่านลอร์ด เบเดน โพล  ผู้ก่อตั้งได้กล่าวไว้ว่า  วิธีการของผู้บำเพ็ญประโยชน์  คือ แนวทางที่มีลักษณะเฉพาะในการพัฒนาเยาวชนที่แตกต่างไปจากวิธีของกิจการอื่น โดยมีรายละเอียด  ดังนี้

 1. ยึดมั่นในคำปฏิญาณและกฎ
คำปฏิญาณและกฎ  คือหัวใจของกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์  เป็นปรัชญาชีวิตของสมาชิก ผู้บำเพ็ญประโยชน์ทุก ๆ คน  หลักการของกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์  สามารถแสดงให้เห็นได้หลายวิธี  เป็นการรวมความเข้าใจในคำปฏิญาณ และกฎแต่ละข้อ สมาชิกแต่ละคนยอมรับ และยึดมั่นด้วยความสมัครใจที่จะใช้ชีวิต ตามหลักการพื้นฐานของผู้บำเพ็ญประโยชน์และรับมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

2. ระบบหมู่   (The Patrol System)
 ระบบหมู่  ทำให้หัวหน้าหมวดทำงานด้วยกันภายใต้ภาวะผู้นำของแต่ละคน  และของสมาชิกในหมู่  คุณลักษณะหลักของระบบหมู่  คือการส่งเสริมให้สมาชิกเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำซึ่งกันและกัน  และจัดสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนได้แสดงบทบาท  และความรับผิดชอบร่วมกัน  เป็นการจัดโอกาสทางการศึกษา ได้แก่ การเข้าไปร่วมส่งเสริม Team spirit  การร่วมมือ การมอบและแบ่งปันความรับผิดชอบ  พัฒนาทักษะความเป็นประชาธิปไตย  รวมทั้งวิธีการตัดสินใจด้วย

 3. การเรียนรู้โดยการลงมือทำ  (Learning by doing)
การลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง  เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้จากประสบการณ์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ชัดเจน ทั้งการทำผิดและทำถูก ทำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ด้วยตนเอง มีการริเริ่มทำสิ่งใหม่  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง  ฝึกให้มีความพยายาม และเพิ่มพูนความสามารถด้วยตนเอง  ได้มากกว่าการไปรับฟัง  หรือสังเกตการณ์เท่านั้น

 4. การพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า  (Progressive Development)
การจัดโปรแกรมแก่เยาวสมาชิก เป็นการจัดเพื่อให้พัฒนาสมาชิกแต่ละคนให้ก้าวหน้า สร้างโอกาสให้มีการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามารถของตนเอง  สมาชิกมีสิทธิ ที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง

5.ความร่วมมือระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก (Active Co-operation between Youths and Adults)
ความร่วมมือระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก เป็นความร่วมมือทั้งในด้านความคิดและการวางแผนการตัดสินใจ การดำเนินกิจกรรม  และการประเมินผลร่วมกัน  ความร่วมมือนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้คนรุ่นเยาว์  ให้ก้าวหน้าในการพัฒนาตนเอง  และมีความเข้าใจในหน้าที่รับผิดชอบ  การส่งเสริมให้คนรุ่นเยาว์ให้ก้าวหน้าในการพัฒนาตนเอง  และมีความเข้าใจในหน้าที่รับผิดชอบ

 6.การใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน  (Symbolism)
สัญลักษณ์  คือ  สิ่งที่ทำให้สมาชิกทุกคนรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน  มีความเป็นเจ้าของ และมีความสามัคคีกัน สัญลักษณ์ของผู้บำเพ็ญประโยชน์ คือ เครื่องหมาย เครื่องแบบ คำปฏิญาณและกฎ  คติพจน์  ธง  เป็นต้น

 7.กิจกรรมกลางแจ้ง  (Outdoor activities)
กิจกรรมกลางแจ้ง   หรือกิจกรรมนอกอาคารสถานที่มีคุณค่าต่อการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  การตระหนักรู้  คุณลักษณะของตนเอง  ทำให้คนเรามีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ตนเอง  มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่  มีการร่วมมือ  และประสานกันเป็นทีม

 8  การบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน
การทำงานกับชุมชน  จะช่วยส่งเสริมสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมกัน  รับผิดชอบต่อโลกและสังคมที่เราอาศัยอยู่  ให้โอกาสเรียนรู้ และเข้าใจ  และยอมรับนับถือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

 9.ประสบการณ์นานาชาติ  (International Experiences)
กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์เป็นกิจการที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  (Movement)  การส่งเสริมความนับถือผู้อื่นและความอดทนต่อผู้อื่น  ความรับผิดชอบต่อโลก
ที่อาศัยอยู่  การศึกษาเรื่องนานาชาติ  เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บำเพ็ญประโยชน์ โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนา  ผู้บำเพ็ญประโยชน์จะได้รับความรู้ความเข้าใจ
และยอมรับความแตกต่างของวิธีคิด  การดำเนินชีวิต  และการมีเพื่อที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน ผู้บำเพ็ญประโยชน์สามารถพัฒนาความรู้สึกในความรับผิดชอบ และความรู้ของการพึ่งพาอาศัยกัน  และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมประสบการณ์นานาชาติให้ผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้เข้าใจในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี (Custom)  ของวัฒนธรรมอื่น ๆ เพื่อลดข้อขัดแย้ง  ให้ได้มีโอกาสแบ่งปัน  และวิเคราะห์ประสบการณ์ที่มี  และสนับสนุนให้นำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

หลักสูตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรองรับจากกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

  • หลักสูตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้รับรองในการจัดกิจกรรมบังคับในหลักสูตรมํธยมศึกษา พุทธศักราช 2521 โดยให้จัดกิจกรรม 1 คาบต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นไป
  • หลักสูตรผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้รับรองเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ. 2544
Scroll to Top